อุปกรณ์ทำเบเกอรี่
หากจะพูดถึงอุปกรณ์ทำเบเกอรี่ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดทำ หรือมืออาชีพล้วนต้องมีอุปกรณ์เฉพาะของการทำขนม โดยอุปกรณ์อาจจะต่างการตามความชำนาญในการใช้ การทุนเวลาทุนแรง รวมถึงการอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการตอบสนองออเดอร์จำนวนมาก ๆ ได้ทัน
อุปกรณ์ทำเบเกอรี่เบื้องต้น
1. อุปกรณ์สำหรับอบ
- เตาอบ (Oven) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการทำเบเกอรี่ เตาอบที่ดีต้องสามารถตั้งอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ มีตัวควบคุมอุณหภูมิ สามารถเก็บความร้อนได้นาน ซึ่งเตาอบที่นิยมใช้ในการทำเบเกอรี่มี 2 ประเภท คือเตาอบไฟฟ้า และเตาอบชนิดใช้แก๊ส
- ถาดรองอบ (Baking Trays) เป็นพิมพ์ชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำจากอะลูมิเนียม ใช้สำหรับรองอบขนมที่ถูกแบ่งเป็นชิ้น อย่างคุกกี้ ขนมปัง หรือมาการอง เป็นต้น เมื่อนำมาใช้ควรรองด้วยกระดาษรองอบก่อนเพราะจะช่วยให้ขนมไม่ติดกับตัวถาด
- กระดาษรองอบ (Parchment Paper) หรือกระดาษไข ใช้สำหรับรองก้นถาดเบเกอรี่ที่จะนำเข้าเตาอบ และใช้รองแป้งจากที่ร่อนแป้ง ควรเลือกใช้กระดาษที่มีความหนาพอสมควร ควรเก็บกระดาษไว้ในที่แห้ง ไม่ควรให้กระดาษโดนน้ำหรือเก็บไว้ในที่อับชื้น
- ตะแกรงพักขนมหลังอบ (Rack) ใช้สำหรับวางเบเกอรี่ที่จะนำเข้าไปอบในเตา หรือเบเกอรี่ที่เพิ่งสุกจากการอบแล้วยังมีอุณหภูมิสูง การวางเบเกอรี่บนตะแกรงจะช่วยให้เบเกอรี่เย็นเร็วขึ้น ไม่แฉะ เพราะจะทำให้อากาศผ่านได้ดี ซึ่งตะแกรงที่ใช้จะเป็นทรงใดก็ได้ ตามสะดวก
2. อุปกรณ์สำหรับชั่งตวง
- ช้อนตวง (Measuring spoons) ใช้เพื่อตวงส่วนผสม อาทิ ผงฟู เกลือป่น เบกกิ้งโซดา ซึ่งมีหน่วยเป็นช้อนชาโดยใช้ตวงวัตถุดิบในปริมาณน้อย ใช้ตวงได้ทั้งของแห้งและของเหลว ซึ่งช้อนตวงสามารถแบ่งได้เป็น 6 ขนาด ได้แก่ ช้อนตวงขนาด ⅛ ช้อนชา, ¼ ช้อนชา, ½ ช้อนชา, 1 ช้อนชา และ 1 ช้อนโต๊ะ แต่จะนิยมใช้เพียงแค่ 4 ขนาดเท่านั้น คือ ขนาด ¼ ช้อนชา, ½ ช้อนชา, 1 ช้อนชา และ 1 ช้อนโต๊ะ
- ถ้วยตวงของแห้ง (Dry Measuring Cups) ใช้ตวงวัตถุดิบของแห้งในปริมาณมาก เช่น แป้ง น้ำตาล และ เมล็ดธัญพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งถ้วยตวงของแห้งสามามารถแบ่งได้ 4-6 ขนาด แต่โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้เพียง 4 ขนาด ได้แก่ ขนาด 1 ถ้วยตวง, ½ ถ้วยตวง, ⅓ ถ้วยตวง และ ¼ ถ้วยตวง
- ถ้วยตวงของเหลว (Liquid Measuring Mups) เป็นถ้วยใส ใช้ตวงของเหลวในปริมาณมาก เช่น นม น้ำมัน หรือน้ำเปล่า โดยทั่วไปถ้วยตวงจะมีหลายขนาด ตั้งแต่ 1 ถ้วยตวง 2 ถ้วยตวง และ 3 ถ้วยตวง หรือขนาดใหญ่กว่านั้น ถ้วยตวงจะมีหน่วยในการวัดค่อนข้างหลากหลาย เช่น มิลลิลิตร ออนซ์ ถ้วย และไพน์ แต่โดยปกติแล้วบนถ้วยตวงของเหลวจะมีหน่วยวัดย่อยลงมาเป็น ½, ⅓, และ ¼ ถ้วยตวง สำหรับถ้วยตวงของเหลวที่สามารถนำเข้าเตาอบ หรือไมโครเวฟถ้วยจะเป็นถ้วยตวงที่ทำจากแก้วเท่านั้น
- เครื่องชั่งดิจิตอลชั่งดิจิตอล (Scale/ Weighing Apparatus) มีหน่วยชั่งเป็น g.(กรัม) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการทำเบเกอรี่ เพราะต้องอาศัยความแม่นยำของน้ำหนักส่วนผสมต่างๆที่ละเอียดชัดเจน โดยตาชั่งเบเกอรี่ที่เหมาะสม ควรชั่งน้ำหนักได้ถึงประมาณ 3 kg.
3. อุปกรณ์สำหรับผสมวัตถุดิบ
- ชามผสม (Mixing Bowl) ใช้ผสมส่วนผสมต่าง ๆ ให้เข้ากัน ‘ชามผสม’ มีหลายชนิดด้วยกัน มีทั้งชามผสมที่ทำจากแก้ว สเตนเลส อะลูมิเนียม และพลาสติก รวมทั้งยังมีหลายขนาดให้เลือกใช้อีกด้วย แต่ ยูนิลิเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์ขอแนะนำว่าเหล่านักอบควรมีติดครัวไว้สัก ‘3 ขนาด’ ประกอบด้วย ชามผสมขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพราะในการทำเบเกอรี่แต่ละอย่างอาจจะต้องใช้ชามผสมมากกว่า 1 ใบนั่นเอง และประเภทของชามผสมที่ยูนิลิเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์อยากแนะนำเป็นพิเศษ คือ ชามผสมที่ทำจากสเตนเลส และชามผสมที่ทำจากแก้ว เพราะชามผสมทั้ง 2 ชนิดจะมีความทนทานมากกว่าชามผสมชนิดอื่น และที่สำคัญยังสามารถเก็บอุณหภูมิได้ดีกว่าชามผสมรูปแบบอื่น ทั้งอุณหภูมิร้อนและเย็นเลยล่ะค่ะ
- เครื่องตีผสมอาหาร (Food Mixers) เป็นอุปกรณ์เบเกอรี่ที่ช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมส่วนผสม และมีส่วนช่วยให้ตัวเบเกอรี่มีคุณภาพมากขึ้น เครื่องตีสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 1. เครื่องผสมอาหารแบบใช้มือถือ (Hand Mixer) เหมาะกับมือใหม่หัดทำเหมาะสำหรับใช้ทำเบเกอรี่ไว้ทานเอง หรือทำในปริมาณน้อย ใช้งานง่าย 2. เครื่องผสมอาหารแบบตั้งโต๊ะ (Stand Mixer) เครื่องผสมอาหารแบบตั้งโต๊ะ เหมาะสำหรับใช้ทำเบเกอรี่ในปริมาณมากเพราะเจ้าเครื่องผสมอาหารแบบตั้งโต๊ะมีกำลังสูงในการตีส่วนผสมให้เข้ากัน ทั้งยังมีชามสำหรับใส่วัตถุดิบที่ถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับตัวเครื่องเท่านั้น โดยมีชามให้เลือกใช้อย่างหลากหลายตามความเหมาะสมของเบเกอรี่ที่ต้องการทำ
- ตะกร้อมือ (Beater/ Wire Whisk) เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับคนหรือตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน นิยมใช้กับวัตถุดิบในปริมาณน้อยหรือปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป การคนหรือตีวัตถุดิบด้วยตะกร้อมือจะรวดเร็วกว่าการคนด้วยช้อนหรือทัพพี เพราะเส้นลวดของตะกร้อทำให้เกิดแรงเหวี่ยงที่เข้าถึงตัววัตถุดิบได้ดีกว่า และมีหลายประเภท หลายขนาดให้เลือกใช้ตามปริมาณวัตถุดิบในการทำเบเกอรี่
- ไม้นวดแป้ง (Rolling Pin) ใช้คลึงแป้งให้มีความหนา บางตามต้องการ ก่อนนำไปอบ ลักษณะของตัวไม้จะมีทั้งแบบด้ามใช้จับทั้ง 2 ข้าง และแบบแท่งกลม ทริคในการเลือกไม้นวดแป้งที่อยากแนะนำคือ ควรเป็นขนาดกลาง หรือขนาดมาตรฐาน 30 ซม. โดยวัสดุจะเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีผิวเรียวไม่เป็นเสี้ยน แสตนเลส หรือพลาสติก ก็ได้
- ไม้พาย (Rubber Scraper) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน มีหลายขนาดและหลายประเภท มีทั้งแบบเนื้อไม้ พลาสติก และซิลิโคน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับปริมาณของส่วนผสมและขนาดของภาชนะ รวมทั้งลักษณะในการใช้งาน นอกจากนี้ควรเลือกวัสดุที่ทนความร้อนได้ยิ่งดี เพราะสามารถใช้คนของในหม้อขณะอยู่บนเตาได้
- ที่ร่อนแป้ง (Flour Sifter) ใช้ในการร่อนแป้ง และวัตถุดิบที่เป็นของแห้งเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้เนื้อวัตถุดิบที่มีความละเอียดและไม่จับตัวเป็นก้อนก่อนนำไปผสมกับวัตถุดิบที่เป็นของเหลว
4. อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ
- นาฬิกาจับเวลา แบบดิจิตอล (Digital Kitchen Timer) เป็นอุปกรณ์ไว้จับเวลาเค้กที่อบในเตาอบ จับเวลาของที่ต้ม หรือแช่เย็น เพื่อให้ไม่พลาดเวลาที่กำหนดไว้
- เครื่องวัดอุณหภูมิอาหาร (Food thermometer) เป็นเครื่องวัดและทดสอบอุณหภูมิความร้อนในน้ำ เนื้อสัตว์ และอาหาร
- ถุงมือกันความร้อน (Oven Mitt) ช่วยป้องกันป้องกันมือให้ทนต่อการสัมผัสงานที่มีความร้อนสูง หรือทำอาหาร และสามารถเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานและความปลอดภัย
- หัวบีบ (Pastry Tips) และ ถุงบีบ (Piping Bags) ใช้สำหรับบีบวิปครีมตกแต่งหน้าเบเกอรี่ หรือใช้บีบไส้ หัวบีบมีหลายขนาด และหลายรูปทรง ให้เลือกใช้ได้ตามแบบที่ต้องการตกแต่ง
สนใจสอบถาม/สั่งซื้อ ผงไส้ขนมสำเร็จรูปรสต่าง ๆ คลิ๊ก : @ Desserts Mate
อ้างอิง
https://www.sweetscottage.com/
https://www.koffeemart.com/
https://www.unileverfoodsolutions.co.th/